งานอื่นๆ ในห้องยา
ก่อนที่จะหลุดไปยังงานนอกห้องยา เลยขอเก็บรายละเอียดงานอื่นๆ ที่เภสัชกรประจำห้องยาต้องทำ
ดูแลการเบิกจ่ายยาผู้ป่วยใน เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยใน เป็นการดูแลแบบใกล้ชิด มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แพทย์ผู้ทำการรักษาจึงสั่งยาโดยระบุเพียงแค่วิธีใช้ ไม่ระบุจำนวนที่ต้องใช้ ซึ่งงานนี้อาจจะรับผิดชอบโดยพยาบาล หรือเภสัชกรก็ได้ ขึ้นกับระบบการเบิกจ่ายยาของโรงพยาบาลว่าให้พยาบาล หรือเภสัชกรเป็นผู้คัดลอกคำสั่งแพทย์ แต่สุดท้ายแล้วก่อนจะเบิกจ่ายยาได้ ก็ต้องผ่านเภสัชกรตรวจสอบยาก่อน
ซึ่งการเบิกจ่ายยามีหลายแบบ แต่ที่พบได้มากมีอยู่ 3 แบบคือ จ่ายยาครั้งละ 3 วัน จ่ายยาครั้งละ 1 วัน และจ่ายยาเป็นมื้อ ซึ่งการคำนวนปริมาณยาที่ใช้ จะมีสูตรที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันในทุกโรงพยาบาล แต่โดยสรุปแล้ว เป้าหมายของงานนี้คือเบิกจ่ายยาให้เพียงพอกับการใช้นั่นเอง
ดูแลการเบิกจ่ายยา เก็บรักษายา แบ่งบรรจุยา และสำรองยาในห้องยา เป็นงานเหมือนกับการดูแลคลังสินค้าย่อยๆ แต่เน้นการตรวจสอบอายุของยา คุณภาพยา
ดูแลการเบิกจ่ายยาที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ และยาเสพย์ติด ควบคุมการเบิกจ่ายยาให้ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวง ป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของยาเหล่านี้ ออกไปนอกโรงพยาบาล
เตรียมยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย เตรียมยาให้อยู่ในรูปแบบที่แพทย์ต้องการใช้ เช่นการเตรียมยาหยอดหูจากยาฉีด
ดูแลบุคลากรภายในห้อง ดูแลให้ทุกคนทำงานตามหน้าที่ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ช่วย (งานหนักสำหรับเภสัชกรจบใหม่ที่มักจะอายุน้อยกว่าผู้ช่วยเป็นสิบปี)
งานทั่วไป งานจับฉ่ายเช่น ควบคุมการเบิกวัสดุ อุปกรณ์สำนักงาน ดูแลห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อย (5ส)
หมดงานห้องยาแล้ว ต่อไปคงจะเป็นงานผลิตที่แบ่งเป็นงานย่อยได้อีกหลายงาน