ทำอะไรกันในห้องยา (1)
เอนทรี่ที่แล้ว ได้เขียนถึงประเภทของเจ้าหน้าที่ในห้องยาไปแล้ว ต่อไปจะเป็นการแนะนำงานต่างๆ ในห้องยา ซึ่งผมจะเน้นเฉพาะงานที่เกี่ยวกับยา และเวชภัณฑ์ ส่วนงานของฝ่ายอื่นเช่น ตรวจสอบสิทธิ์ หรือการเงินที่มีแจมๆ เข้ามาบ้าง ผมจะไม่เขียนถึง เริ่มจากงานแรก เมื่อใบสั่งยามาถึงนั่นคือการคีย์ยาของมือคีย์ยา ในโรงพยาบาลที่แพทย์ยังไม่ได้สั่งยามาทางคอมพิวเตอร์ ยังคงใช้วิธีเขียนใบสั่งยาอยู่ จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่อ่านใบสั่งยาและคีย์ยาเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทักษะที่จำเป็นสองอย่างของมือคีย์คือ ความเข้าใจ คุ้นเคยในลายมือแพทย์ และความสามารถในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล (HIS) เพราะงานนี้เป็นจุดเริ่มของกระบวนการต่างๆ ในห้องยาถ้าจุดนี้ช้า ก็จะพากันช้าไปทั้งระบบ ในอดีตงานนี้จะเป็นของเภสัชกร เพราะมีทักษะในการอ่านลายมือหมออยู่แล้ว (ไม่มีอะไรหรอกครับ แค่ความคุ้นในลายมือหมอ กับฐานข้อมูลยาที่อยู่ในหัวเอาไว้เทียบกับสิ่งที่แพทย์เขียน) แต่ในปัจจุบันเภสัชกรมีงานอื่นที่จำเป็นกว่า จึงมีการฝึกให้จพง. กับผู้ช่วยมาทำแทน ซึ่งทำได้เทียบเท่า หรืออาจจะเหนือกว่าเภสัชกรด้วยซ้ำ ทำให้บางโรงพยาบาลไม่ให้แพทย์คีย์ยาเอง เพราะคิดว่าแทนที่จะเสียเวลาให้แพทย์คีย์ยา สู้จ้างเจ้าหน้าที่มาคีย์ยาเยอะๆ คุ้มกว่า แต่ในที่สุดแล้ว การที่แพทย์คีย์ยาเองดีที่สุดครับ เพราะจะช่วยลดความผิดพลาดจากการอ่านลายมือผิดได้มากมายเลยครับ พอคีย์ยาเสร็จ ก็ต้องพิมพ์ใบสั่งยากับสติ๊กเกอร์ฉลากยาออกมา ทีนี้ก็ถึงคิวของมือจัดซอง เพื่อความสะดวกของผู้จัดยา ในบางโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีคนคอยจับคู่ฉลากยากับซองใส่ยาเพื่อที่ผู้จัดยาจะได้นำซองไปจัดยาได้เลยไม่ต้องเสียเวลามาเลือกซอง ทักษะสำคัญของงานนี้ก็คือความคุ้นเคยกับแพ็คเกจของยาทั้งหมดในโรงพยาบาล รู้ขนาดของแผงยาทุกแผง มีความสามารถในการคะเนปริมาณยากับซองใส่ยา รู้ว่ายาตัวไหนต้องใส่ซองกันแสง เพื่อที่จะได้เลือกซองใส่ยาได้เหมาะสม เจ้าของงานนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ช่วยนะครับ ทีนี้ก็มีซองใส่ยาที่ติดฉลากพร้อมจัดแล้ว แต่ก่อนที่จะจัดยาได้ก็ต้องมีการเตรียมยาให้พร้อมจัดก่อน และการที่จะมียาพร้อมจัดได้ก็ต้องมีการเบิกยาเข้าคลังย่อยซึ่งเป็นงานของมือเบิกยา […]